โคลง

ร้อยกรองประเภทโคลง

โคลง คือ คำประพันธ์ชนิดหนึ่งที่บังคับรูปวรรณยุกต์เอก-โท และบังคับสัมผัส คำประพันธ์ประเภทโคลงมีหลักฐานปรากฏว่ามีต้นกำเนิดมาจากทางภาคเหนือและภาคอีสานก่อน แล้วจึงแพร่หลายเข้าสู่ภาคกลางของไทย วรรณกรรมที่แต่งด้วยโคลงที่เก่าแก่ที่สุด คือ " โองการแช่งน้ำโคลงห้า " ซึ่งแต่งขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ราว พ.ศ. ๑๘๙๓ซึ่งตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ หรือพระเจ้าอู่ทองสำหรับโคลงประเภทอื่น ๆ นั้น อาจได้รับอิทธิพลมาจากทางภาคเหนือหรือล้านนาเช่น โคลงสี่ดั้น ได้แก่ ลิลิตยวนพ่าย โคลงสุภาพ (ไม่ว่าจะเป็น โคลงสอง โคลงสาม และโคลงสี่ )ได้แก่ ลิลิตพระลอ เป็นต้น ส่วนโคลงสองดั้น โคลงสามดั้นนั้นเริ่มมีปรากฏในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี่เอง

โคลง นับเป็นร้อยกรองไทยที่มีความยาก ขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง จาก กาพย์และกลอน เพราะ นอกจากข้อบังคับในเรื่องสัมผัสแล้ว ยังมีข้อบังคับในเรื่อง คำเอกคำโทเพิ่มขึ้นมาอีกเช่นเดียวกับร้อยกรองไทยประเภทอื่น ๆ คือโคลงมีอยู่หลายประเภทด้วยกันแต่แบ่งเป็นหลักใหญ่ได้๒ชนิดคือโคลงโคลงสุภาพกับโคลงดั้นแม้โคลงสุภาพนี้ ยังแบ่งออกไปอีกเป็นโคลงสองโคลงสามและโคลงสี่ ฯซึ่งในที่นี้จะแนะนำเฉพาะโคลงสี่สุภาพเท่านั้นโคลงสี่สุภาพ ถือเป็นพื้นฐานของการเขียน โคลงชนิดอื่น ๆ เช่นเดียวกับกลอนสุภาพที่เป็นพื้นฐานของการแต่งกลอนประเภทอื่น

ข้อบังคับหรือบัญญัติของโคลง ในการแต่งโคลง จะต้องมีลักษณะบังคับ หรือบัญญัติ ๗ อย่าง คือ

๑. คณะ ๒. พยางค์หรือคำ

๓. สัมผัส ๔. คำเอก-คำโท

๕. คำเป็นคำตาย ( คำตายใช้แทนคำเอก ) ๖. คำสร้อย

๗. คำเอกโทษ-คำโทโทษ ( ที่ใช้แทนตำแหน่งของคำเอกและคำโท )

คำ สุภาพ ในโคลงนั้น มีความหมายเป็น ๒ อย่าง คือ

๑.หมายถึง คำที่ไม่มีเครื่องหมาย วรรณยุกต์เอก-โท

๒.หมายถึง การบังคับคณะ และสัมผัส อย่างเรียบๆ ไม่โลดโผน ( กลับไปอ่านฉันท์ลักษณ์ )

โคลง แบ่งออกเป็น ๓ ชนิด คือ โคลงสุภาพ โคลงดั้น และโคลงโบราณ

โคลงสุภาพ แบ่งออกเป็น ๗ ชนิด คือ

๑. โคลง ๒ สุภาพ ๒. โคลง ๓ สุภาพ

๓. โคลง ๔ สุภาพ ๔. โคลง ๔ ตรีพิธพรรณ

๕. โคลง ๕ หรือมณฑกคติ ๖. โคลง ๔ จัตวาทัณฑี

๗. โคลงกระทู้

โคลงดั้น แบ่งออกเป็น ๖ ชนิด คือ

๑. โคลง ๒ ดั้น ๒. โคลง ๓ ดั้น

๓. โคลงดั้นวิวิธมาลี ๔. โคลงดั้นบาทกุญชร

๕. โคลงดั้นตรีพิธพรรณ ๖. โคลงดั้นจัตวาทัณฑี

โคลงโบราณ แบ่งออกเป็น ¬๘ ชนิด

๑. โคลงวิชชุมาลี ๒. โคลงมหาวิชชุมาลี

๓. โคลงจิตรลดา ๔. โคลงมหาจิตรลดา

๕. โคลงสินธุมาลี ๖. โคลงมหาสินธุมาลี

๗. โคลงนันททายี ๘. โคลงมหานันททายี

โคลงสี่สุภาพ

ฉันทลักษณ์ของโคลงสี่สุภาพ

๏ 0 0 0 อ ท 0 x ( 0 ส)

0 อ 0 0 x อ ท

0 0 อ 0 x 0 อ ( 0 ส)

0 อ 0 0 ท อ ท 0 x

0 - คือคำใดๆก็ได้

ส - คือคำสร้อยไม่นิยมให้มีความหมาย มักจะใช้คำ เช่น นา แล ฤๅ แฮ ฮา รา บารนี ฯลฯ

x - คือตำแหน่งคำสุภาพที่สัมผัสสระกัน ไม่ควรใส่รูป วรรณยุกต์ใดๆ เพราะจะทำให้น้ำหนักของโคลงเสียไป

ข้อควรสังเกต:ในวรรคสุดท้ายของโคลงสี่สุภาพ สี่คำสุดท้าย ต้องเขียน ติดกัน

คำเอกคำโท ตัวอย่างโคลงสี่สุภาพมีตำแหน่งรูปวรรณยุกต์เอก ๗แห่งและตำแหน่งรูปวรรณยุกต์โท ๔ แห่ง

๏ สิบเก้าเสาวภาพแก้ว กรองสนธิ์

จันทรมณฑล สี่ถ้วน

พระสุริยะเสด็จดล เจ็ดแห่ง

แสดงว่าพระโคลงล้วน เศษสร้อยมีสอง ฯ

รูปวรรณยุกต์เอก ในโคลง อาจใช้คำตาย แทนได้ ส่วนคำที่กำหนด รูปวรรณยุกต์โท ไว้นั้น แทนด้วยอะไร ไม่ได้ทั้งสิ้น ต้องใช้รูปโทเท่านั้น ส่วนตำแหน่งอื่นๆ อีก ๑๙ คำ จะใช้รูปใดๆก็ได้มีรูปวรรณยุกต์ใดๆ ก็ได้

คำตาย คือคำที่สะกดด้วยสระเสียงสั้นในแม่ ก กา เช่น กะ, แกะ, เกาะ, กุ ฯลฯ และ คำที่สะกดด้วยแม่ กก, กด, กบ รวมทั้ง ฤ ก็ บ่

เอกโทษ โทโทษ คือการแผลงรูปคำ ให้ใช้วรรณยุกต์ เอกหรือโท ตามต้องการ แต่เสียงให้อ่าน เหมือนกับคำ ที่แผลงมานั้น เช่น เหล้น หมายถึง เล่น , เหยี้ยง หมายถึง เยี่ยง ฯลฯ ปัจจุบันไม่นิยมใช้ เอกโทษ,โทโทษ อีกแล้ว เพราะถือว่า เป็นข้อบกพร่อง ในรูปวรรณยุกต์ ถ้าไม่จำเป็นให้หลีกเลี่ยง

สัมผัส ในโคลงมีสัมผัสบังคับ หรือเรียก อีกอย่างหนึ่งว่า สัมผัสนอก ตามผังข้างต้น ในส่วนที่เป็นสีแดง ทั้งตำแหน่งเอก และโท ในหนังสือ จินดามณี ฉบับพระโหราธิบดี อธิบาย สัมผัสบังคับ ของโคลงสี่สุภาพ ไว้ว่า

๏ ให้ปลายบทเอกนั้น มาฟัด

ห้าที่บทสองวัจน์ ชอบพร้อง

บทสามดุจเดียวทัด ในที่ เบญจนา

ปลายแห่งบทสองต้อง ที่ห้าบทหลัง ฯ

สัมผัสระหว่างวรรคแรก กับวรรคหลัง ในบาทเดียวกัน จุดส่งสัมผัส ที่ทำให้จังหวะเสียง ในโคลงแต่ละบาท มีความสง่า ไพเราะยิ่งขึ้น คือสัมผัสอักษร ระหว่างวรรคแรก กับวรรคหลัง โดยคำสุดท้าย ของวรรคแรก อาจส่งสัมผัส ไปยังคำใด คำหนึ่ง ในวรรคหลัง ดังตัวอย่าง

๏ กำสรวลศรีปราชญ์พร้อง เพรงกาล

จากจุฬาลักษณ์ลาญ สวาทแล้ว

ทวาทศมาสสาร สามเทวษ ถวิลแฮ

ยกทัดกลางเกศแก้ว กึ่งร้อนทรวงเรียม ฯ

คำสร้อย

คำสร้อย ซึ่งใช้ต่อท้าย โคลงสี่สุภาพ ในบาทที่ ๑ และบาทที่ ๓ นั้นจะใช้ต่อ เมื่อใจความขาด หรือยังไม่สมบูรณ์ หากความ ในบาทนั้น สมบูรณ์ ได้ใจความ ดีอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็น ต้องมีสร้อย ซึ่งถ้าใช้สร้อย ในที่ไม่จำเป็น ก็จะทำให ้โคลงบทนั้น "รกสร้อย"

ตัวอย่างโคลงที่สมบูรณ์ไพเราะที่ไม่ต้องมีสร้อย

๏ โบสถ์ระเบียงมรฑปพื้น ไพหาร

ธรรมาสน์ศาลาลาน พระแผ้ว

หอไตรระฆังขาน ภายค่ำ

ไขประทีปโคมแก้ว ก่ำฟ้าเฟือนจันทร์ ฯ

และตัวอย่างโคลงที่ความไม่สมบูรณ์ ต้องใช้สร้อยจากเรื่องเดียวกัน คือ

๏ อยุธยายสล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤๅ

สิงหาสน์ปรางค์รัตน์บรร เจิดหล้า

บุญเพรงพระหากสรรค์ ศาสน์รุ่ง เรืองแฮ

บังอบายเบิกฟ้า ฝึกฟื้นใจเมือง ฯ