คำไทยแท้กับคำยืม

การสังเกตลักษณะของคำที่เป็นคำไทยแท้กับคำที่มาจากภาษาอื่น

คำที่เป็นคำไทยแท้

ลักษณะของคำไทยแท้

๑. คำไทยแท้ส่วนใหญ่เป็นคำโดดพยางค์เดียว ไม่มีเสียงควบกล้ำ โดยจำแนกตามชนิดของคำในภาษาไทย ได้แก่

คำไทยแท้ที่เป็นคำนาม เช่น พ่อ ดิน พี่ กา คู ฯลฯ

คำไทยแท้ที่เป็นคำสรรพนาม เช่น เธอ ฉัน กู ข้า เขา ฯลฯ

คำไทยแท้ที่เป็นคำกริยา เช่น จม เล่น นอน ไป รัก ฯลฯ

คำไทยแท้ที่เป็นคำวิเศษณ์ เช่น สวย ดำ ขาว สุก ร้อน ฯลฯ

คำไทยแท้ที่เป็นคำบุพบท เช่น บน ใน ใต้ แก่ จน ฯลฯ

คำไทยแท้ที่เป็นคำสันธาน เช่น แม้ ถ้า และ เพราะ จึง ฯลฯ

คำไทยแท้ที่เป็นคำอุทาน เช่น แหม ว้าย โถ ต๊าย อ้าว ฯลฯ

๒. คำไทยแท้ส่วนใหญ่ตัวสะกดจะสะกดตรงตามมาตรา ได้แก่

แม่กก ต้องใช้ ก สะกด เช่น หก ตัก สาก ชุก ฯลฯ

แม่กด ต้องใช้ ด สะกด เช่น ลด ขาด กด จัด ฯลฯ

แม่กบ ต้องใช้ บ สะกด เช่น สับ ลาบ จบ ดิบ ฯลฯ

แม่กง ต้องใช้ ง สะกด เช่น ลิง พัง ยุง ของ ฯลฯ

แม่กน ต้องใช้ น สะกด เช่น วัน บิน จาน สอน ฯลฯ

แม่กม ต้องใช้ ม สะกด เช่น นาม ขอม สุม นม ฯลฯ

แม่เกย ต้องใช้ ย สะกด เช่น สวย เขย เลย เคย ฯลฯ

แม่เกอว ต้องใช้ ว สะกด เช่น แซว สาว วาว เลว ฯลฯ

๓. คำไทยแท้อาจมีหลายพยางค์ได้ ซึ่งสังเกตได้ว่าคำไทยแท้ที่มีหลายพยางค์นี้ จะเกิดจากการกร่อนของเสียง การแทรกเสียง และการเติมพยางค์หน้าคำมูล

๓.๑ การกร่อนของเสียง เกิดจากคำเดิมมี ๒ พยางค์ แต่เมื่อพูดเร็วๆ เข้า คำแรกของพยางค์จึงกร่อนลงเหลือเพียงเสียง “อะ” เช่น

หมากขาม กร่อนเป็น มะขาม

สาวใภ้ ” สะใภ้

๓.๒ การแทรกเสียง เกิดจากคำเดิมมี ๒ พยางค์ ภายหลังมีการแทรกเสียง “อะ” เข้าไปตรงกลางคำ เช่น

ผักเฉด แทรกเสียงอะกลางคำกลายเป็น ผักกะเฉด (ปัจจุบันนิยมใช้ ผักกระเฉด)

ลูกท้อน ” ลูกกระท้อน (ปัจจุบันนิยมใช้ลูกกระท้อน)

๓.๓ การเติมพยางค์หน้าคำมูล เกิดจากการเติมเสียง “อะ” เข้าไปหน้าคำมูล ซึ่งมักจะขึ้นต้นด้วย “กะ กระ ปะ ประ” ทั้งคำที่เติมเสียงอะและไม่ได้เติมเสียงอะ จะมีความหมายใกล้เคียงกัน เช่น

โตกตาก เติมเสียงอะกลายเป็น กระโตกกระตาก

เดี๋ยว ” ประเดี๋ยว

๔. คำไทยแท้ส่วนใหญ่ไม่มีพยัญชนะต่อไปนี้ คือ ฆ ณ ญ ฎ ฏ ฐ ฑ ฒ ธ ศ ษ ฬ ดังนั้น จึงมีเฉพาะบางคำเท่านั้นที่คำไทยแท้จะมีพยัญชนะเหล่านี้ผสมอยู่ เช่น ฆ่า ศอก เธอ ณ หญ้า ฯลฯ

๕. คำไทยแท้ส่วนใหญ่เป็นลักษณะนาม เช่น วง บาน ลูก ใบ ตัน ดวง สาย ปาก ราง กอง ชุด ข้อ หีบ พับ รูป คน อัน ฯลฯ เวลาเขียนลักษณะนามจะอยู่หลังคำนามเสมอ เช่น มโหรี ๑ วง , จาน ๕ ใบ, ถนนสายนี้, เครื่องแต่งกายชุดนี้, ทราย ๓ กอง เป็นต้น

๖. คำไทยแท้ไม่มีตัวการันต์

๗. คำไทยแท้เป็นคำที่มีความหมายสมบูรณ์ในตัวเอง และเมื่อนำมาสร้างเป็นประโยคจึงไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของคำแต่อย่างใด ยกเว้น ถ้าต้องการให้ความหมายเปลี่ยนไปหรือว่ามีความชัดเจนขึ้น ก็ต้องนำคำอื่นเข้ามาประกอบด้วย เช่น

กำลัง แม่กำลังทำกับข้าวอยู่

จะเห็นว่า คำว่า “กำลัง” เป็นคำไทยแท้ เพราะมีความหมายสมบูรณ์อยู่ในตัวเอง เมื่อนำมาสร้างเป็นประโยค ก็ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงรูปของมัน แต่ถ้าต้องการให้มีความหมายเปลี่ยนไป เช่น กรณีนี้ที่ประโยคข้างต้น แสดงให้เห็นว่าเป็นรูปปัจจุบันกาล ถ้าต้องการให้เป็นรูปอดีตกาล ก็ต้องนำคำอื่นมาช่วยด้วย บางครั้งต้องตัดคำไทยแท้นั้นออกไปเลย กรณีนี้สามารถเปลี่ยนเป็นรูปอดีตกาลได้ คือ แม่นั้นได้ทำกับข้าวเสร็จนานแล้ว เป็นต้น

๘. คำไทยแท้ส่วนใหญ่สร้างคำโดยมีรูปวรรณยุกต์ [ รูปวรรณยุกต์มี ๔ รูป ได้แก่ รูปเอก (่) , โท (้) , ตรี (๊) , จัตวา (๋) ] ทั้งนี้เพื่อให้เกิดคำใหม่ที่มีความหมายแตกต่างกันไป เช่น คำว่า “ขาว” เป็นคำไทยแท้ แต่สามารถสร้างคำไทยแท้ได้อีกโดยการใส่รูปวรรณยุกต์ ทำให้เกิดคำใหม่ และความหมายก็แตกต่างไปจากเดิมด้วย ดังนี้

ขาว (สีขาว)

ข่าว (เรื่องราว)

ข้าว (ชื่อเมล็ดของพืช)

๙. คำไทยแท้ส่วนใหญ่สร้างคำด้วยการนำคำมารวมกัน หรือมาประสมกัน ที่เรียกว่า คำประสม เช่นคำว่า แม่น้ำ หัวสูง ลูกกวาด พัดลม น้ำตก ฯลฯ

๑๐. คำที่ออกเสียงไอ มีเฉพาะคำที่เป็นสระไม้ม้วน (ใ) และสระไม้มลาย (ไ) เท่านั้นที่ถือเป็นคำไทยแท้ เช่น ใต้ ใส่ ใจ ไฟ ไว ไหล่ ฯลฯ ดังนั้นคำไทยแท้จะไม่มีรูป “อัย” และ “ไอย”

๑๑. คำไทยแท้ไม่นิยมคำควบกล้ำ (ยกเว้น ควาย ความ กริ่งเกรง ผลิ เป็นคำไทย )

๑๒. คำไทยแท้มักมีหลายความหมายในคำคำเดียวกัน เช่น ฉัน ขัน ฟัน เป็นต้น

คำที่มาจากภาษาอื่น

ภาษาเขมร

ลักษณะของคำภาษาเขมร

๑. คำภาษาเขมรจะใช้ จ ร ล ญ เป็นตัวสะกด เช่น

จ สะกด : เสด็จ ตรวจ อำนาจ เท็จ ฯลฯ

ร สะกด : ขจร ควร ระเมียร อร ฯลฯ

ล สะกด : กำสรวล ตำบล ถวิล ดล ฯลฯ

ญ สะกด : จำเริญ ชำนาญ เชิญ เพ็ญ ฯลฯ

ข้อสังเกต คำเขมรที่ไทยนำมาใช้ส่วนใหญ่จะคงภาษาเดิมของคำเขมรไว้ แต่ก็มีที่ไทยเปลี่ยนแปลงการใช้ ไปบ้าง เช่น ไทยอาจเปลี่ยนตัวสะกด จ เป็น ด หรือเปลี่ยน ร ล ญ มาเป็น น บ้าง เช่น เดิร เป็น คำเขมร ไทยเปลี่ยนเป็น เดิน , ถนล เป็นคำเขมร ไทยเปลี่ยนเป็น ถนน เป็นต้น

๒. คำภาษาเขมรไม่นิยมใช้รูปวรรณยุกต์ เช่น ตำบล ดำเนิน กระบือ เสด็จ เขนย จำเริญ เพลา ทรง ยกเว้นบางคำ เช่น เขม่า จำหน่าย ฯลฯ

ข้อสังเกต ส่วนใหญ่คำภาษาเขมรจะไม่มีรูปวรรณยุกต์ ส่วนน้อยมากที่มีรูปวรรณยุกต์ แต่ก็จะมีเฉพาะรูปวรรณยุกต์เอกเท่านั้น

๓. คำภาษาเขมรส่วนใหญ่จะเป็นคำควบกล้ำ เช่น ขลาด ขนอง เสวย โตนด จมูก กระบือ ฯลฯ

ข้อสังเกต จะเห็นว่าคำเขมรส่วนใหญ่นอกจากเป็นคำควบคล้ำแล้ว ยังเป็นคำที่ใช้อักษรนำและอักษรตามและเป็นคำหลายพยางค์อีกด้วย

๔. คำภาษาเขมรส่วนใหญ่จะขึ้นต้นด้วย บัง บัน บำ เช่น

คำที่ขึ้นต้นด้วย บัง : บังคับ บังคม บังอาจ ฯลฯ

คำที่ขึ้นต้นด้วย บัน : บันได บันดาล บันเทิง ฯลฯ

คำที่ขึ้นต้นด้วย บำ : บำเพ็ญ บำรุง บำเหน็จ ฯลฯ

๕. คำภาษาเขมรที่แผลงมาเป็นคำไทยมีหลายพวก เช่น ข แผลงเป็น กระ, ผ แผลงเป็น ประ,

ประ แผลงเป็น บรร และสระอื่น แผลงเป็นสระอำ เช่น

ข แผลงเป็น กระ : ขจัด à กระจัด , ขจาย à กระจาย

ผ แผลงเป็น ประ : ผสาน à ประสาน , ผกาย à ประกาย

ประ แผลงเป็น บรร : ประทม à บรรทม , ประจุ à บรรจุ

สระอื่น แผลงเป็น สระอำ : เกิด à กำเนิด , จ่าย à จำหน่าย

ชาญ à ชำนาญ , เดิน à ดำเนิน

ตรวจ à ตำรวจ , ทาย à ทำนาย

สราญ à สำราญ , อาจ à อำนาจ

ข้อสังเกต สระอื่น แผลงเป็น สระอำ ส่วนใหญ่เป็นคำ ๒ พยางค์

สรุปหลักสังเกตคำภาษาเขมร

๑. ใช้ จ ร ล ญ เป็นตัวสะกด

๒. ไม่นิยมใช้รูปวรรณยุกต์

๓. ส่วนใหญ่เป็นคำควบกล้ำ

๔. ส่วนใหญ่ขึ้นต้นด้วย บัง บัน บำ

๕. ส่วนใหญ่ขึ้นต้นด้วย กระ ประ บรร

๖. ส่วนใหญ่ขึ้นต้นด้วย กำ ดำ จำ ชำ ตำ ทำ สำ อำ

ภาษาบาลี – สันสกฤต

ลักษณะของคำบาลี-สันสกฤต

ภาษาบาลีต่างจากภาษาสันสกฤต ดังนี้

๑. สระ ภาษาบาลี มีสระ ๘ ตัว ได้แก่ อะ อา อิ อี อุ อู เอ โอ

ภาษาสันสกฤต มีสระ ๑๔ ตัว ได้แก่ อะ อา อิ อี อุ อู เอ โอ ไอ เอา ฤ ฤๅ ฦ ฦๅ

ข้อสังเกต ให้จำว่าถ้าคำใดที่มีสระนอกเหนือจากสระของภาษาบาลี ๘ ตัวนั้น คือ ไอ เอา ฤ ฤๅ

ฦ ฦๅ คำนั้นย่อมเป็นคำภาษาสันสกฤต เช่น ไปรษณีย์ เสาร์ พฤษภาคม ฤทธิ์ ฯล

ยกเว้น คำไทยบางคำที่เคยเขียนด้วย ฤ ฦ ฦๅ เช่น อังกฤษ น้ำฦก เลื่องฦๅ ฦๅชา ฯลฯ

๒. พยัญชนะ ภาษาบาลีมีพยัญชนะ ๓๓ ตัว ซึ่งแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ

๑. พยัญชนะวรรค

๒. พยัญชนะเศษวรรค

ภาษาสันสกฤตมีพยัญชนะ ๓๕ ตัว คือ เพิ่ม ศ , ษ ในเศษวรรค

ตารางพยัญชนะภาษาบาลี

เศษวรรค คือ พยัญชนะที่ไม่ได้จัดไว้เป็นพวก มี ๘ ตัว คือ ย ร ล ว ส ห ฬ º (นิคหิต)

(นิคหิต ใช้แทนเสียง “ง” ในภาษาบาลี และแทนเสียง “ม” ในภาษาสันสกฤต)

ดังนั้น จะเห็นว่า พยัญชนะในภาษาบาลีมีน้อยกว่าของภาษาสันสกฤตอยู่ ๒ ตัว คือ ศ และ ษ ฉะนั้น ถ้าคำใดมีพยัญชนะ ๒ ตัวนี้ผสมอยู่ คำนั้นย่อมเป็นภาษาสันสกฤต เช่น ศาล ศรี ฤาษี ทักษะ ศิลปะ ราษฎร เศรษฐี ภาษา ฯลฯ

ยกเว้น คำไทยบางคำที่ไทยเคยเขียนด้วยพยัญชนะ ๒ ตัวนี้ เช่น ศึก ศอก เศิก ศอ เศร้า ศก กระดาษ ฝรั่งเศส ฝีดาษ ฯลฯ

ข้อสังเกต คำที่มาจากภาษาบาลีใช้ ส ทั้งหมด ไม่ใช้ ศ และ ษ เช่น สัจจะ สิกขา สัญญา สัมมนา สามี

เป็นต้น เนื่องจาก ศ , ษ ไม่มีในภาษาบาลี แต่ภาษาสันสกฤตใช้ได้ทั้ง ศ, ษ, ส ดังนั้น จึงเป็น

การยากที่จะใช้ ส ให้ถูกต้อง จึงมีหลักสังเกตการใช้ ส ของภาษาสันสกฤต ดังนี้ (ให้ดูตาราง

พยัญชนะภาษาบาลี และหลักตัวสะกดและตัวตามในภาษาบาลีประกอบด้วย)

๑. คำที่มี ส ประกอบอยู่ จะเป็นคำสันสกฤตก็ต่อเมื่อ ส อยู่หน้าพยัญชนะในวรรคตะ (วรรคทันตชะ) เช่น สตรี สถาน สถานะ สถิติ เสนีย์ ฯลฯ

๒. คำที่มี ส ประกอบอยู่ ถ้าไม่เป็นไปตามหลักตัวสะกดและตัวตามของภาษาบาลี ก็ถือว่าเป็นคำสันสกฤต เช่น วัสดุ พิสดาร มัตสยา สัตยา ฯลฯ คำเหล่านี้เป็นคำสันสกฤต เนื่องจากว่าไม่ได้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตัวสะกดและตัวตามของภาษาบาลี เช่น สัตยา มี ต เป็นตัวสะกด ซึ่ง ต เป็นพยัญชนะแถวที่ ๑ ดังนั้นพยัญชนะแถวที่ ๑ หรือ ๒ ในวรรคเดียวกันเป็นตัวตาม ในที่นี้ ย ไม่ใช่พยัญชนะในแถวที่ ๑ หรือ ๒ ดังนั้น คำว่า สัตยา จึงไม่ใช่คำบาลี แต่เป็นคำสันสกฤต เปรียบเทียบกับคำว่า สุนทร มี น เป็นตัวสะกด ซึ่ง น เป็นพยัญชนะแถวที่ ๕ ดังนั้นพยัญชนะทุกตัวในวรรคเดียวกันตามได้ทุกตัว กรณีนี้ ท เป็นตัวตาม ซึ่ง ท ก็เป็นพยัญชนะในวรรคนี้ด้วย ดังนั้น คำว่า สุนทร จึงเป็นภาษาบาลี ไม่ใช่สันสกฤต เป็นต้น

๓. พยัญชนะตัวสะกดและตัวตาม

ภาษาบาลี มีหลักตัวสะกดและตัวตามแน่นอน กล่าวคือ ถ้ามีตัวสะกดแล้วต้องมีตัวตามเสมอไป

ภาษาสันสกฤต ไม่มีหลักตัวสะกดและตัวตามที่แน่นอน หมายความว่า พยัญชนะในวรรคใดเป็นตัวสะกด พยัญชนะต่างวรรคกันก็ตามได้ กล่าวคือ ตัวใดสะกด ตัวใดจะตามก็ได้ เช่น มุกดา ภักดี รักษา พิทยา หรือพยัญชนะตัวใดสะกด อาจไม่มีตัวตามก็ได้ เช่น มนัส หัสดิน ฯลฯ

หลักตัวสะกดและตัวตามในภาษาบาลี (ให้ดูตารางพยัญชนะภาษาบาลีประกอบด้วย)

(๑) พยัญชนะแถวที่ ๑ สะกด พยัญชนะแถวที่ ๑ หรือ ๒ ในวรรคเดียวกันนั้นเป็นตัวตาม เช่น สัจจะ ทุกข์ มัจฉา เมตตา เป็นต้น

(๒) พยัญชนะแถวที่ ๓ สะกด พยัญชนะแถวที่ ๓ หรือ ๔ ในวรรคเดียวกันนั้นเป็นตัวตาม เช่น อัคคี พยัคฆ์ อัชฌาสัย นิพพาน เป็นต้น

(๓) พยัญชนะแถวที่ ๕ สะกด พยัญชนะทุกตัวในวรรค ตามได้ทุกตัว (แม้กระทั่งตัวของมันเองก็ตามได้) เช่น สังข์ เบญจะ ปัญญา สัมผัส เป็นต้น

หมายเหตุ - พยัญชนะวรรคฏะ นิยมตัดตัวสะกดเดิม และใช้ตัวตามเป็นตัวสะกดแทน เช่น

รัฏฐ ตัดตัวสะกดเดิม คือ ตัด ฏ ทิ้ง และใช้ตัวตาม คือ ฐ เป็นตัวสะกดแทน กลายเป็น รัฐ

วัฑฒน ตัดตัวสะกดเดิม คือ ตัด ฑ ทิ้ง และใช้ตัวตาม คือ น เป็นตัวสะกดแทน กลายเป็น วัฒน

วุฑฒิ ตัดตัวสะกดเดิม คือ ตัด ฑ ทิ้ง และใช้ตัวตาม คือ ฒ เป็นตัวสะกดแทน กลายเป็น วุฒิ

- ตัวสะกดและตัวตามที่เป็นพยัญชนะตัวเดียวกัน บางครั้งให้ตัดทิ้งหนึ่งตัว เช่น

วิชชา ตัวสะกด คือ ช และตัวตาม คือ ช เป็นตัวเดียวกัน ให้ตัดทิ้งหนึ่งตัว เป็น วิชา

อิสสระ ตัวสะกด คือ ส และตัวตาม คือ ส เป็นตัวเดียวกัน ให้ตัดทิ้งหนึ่งตัว เป็น อิสระ

จิตต ตัวสะกด คือ ต และตัวตาม คือ ต เป็นตัวเดียวกัน ให้ตัดทิ้งหนึ่งตัว เป็น จิต

๔. คำที่มี รร (รอหัน)

ภาษาบาลี ไม่มี รร

ภาษาสันสกฤต มี รร เช่น ธรรม กรรม ภรรยา บรรพชิต ฯลฯ

ยกเว้น คำแผลงในภาษาไทยทีไทยแผลงมาจาก กระ ประ คระ เช่น

แผลง กระ เป็น กรร เช่น กรรเชียง กรรชิด

แผลง ประ เป็น บรร เช่น บรรจบ บรรทุก

แผลง คระ เป็น ครร เช่น ครรโลง ครรไล ฯลฯ

๕. พยัญชนะควบกล้ำ

ภาษาบาลี ไม่ใช้พยัญชนะควบกล้ำ

ภาษาสันสกฤต ใช้พยัญชนะควบกล้ำ เช่น จักร อัคร ประชา บุตร ฯลฯ

๖. พยัญชนะ ฬ

ภาษาบาลี ใช้ ฬ

ภาษาสันสกฤต ไม่ใช้ ฬ แต่ใช้ ฑ ฒ แทน เช่น

คำบาลี คำสันสกฤต

กีฬา กรีฑา

ครุฬ ครุฑ

จุฬา จุฑา

๗. คำว่า “ริ”

ภาษาบาลี จะมีคำว่า ริ อยู่ระหว่างคำ

ภาษาสันสกฤต ไม่มีคำว่า ริ มีเฉพาะ ร เช่น

คำบาลี คำสันสกฤต

อาจริย อาจารย์

ภริยา ภรรยา

อัจฉริยะ อัศจรรย์

๘. การใช้ตัว ณ

ภาษาบาลี ใช้ตัว ณ ในภาษาเดิม เช่น กัณหา ญาณ จัณฑาล มณฑล มณี ฯลฯ

ภาษาสันสกฤต ใช้ ณ ตามหลัง ร ฤ ษ กล่าวคือ ถ้าคำใดมีตัว ร ฤ ษ นำหน้าตัว “นอ” ต้องใช้ ณ เช่น อรุณ นารายณ์ พราหมณ์ ตฤณมัย กฤษณา โฆษณา ลักษณะ ยกเว้นบางคำ เช่น ปักษิน กริน เนื่องจากคำเหล่านี้ใช้เช่นนี้มาแต่เดิมแล้ว

๙. คำว่า “เคราะห์”

ภาษาบาลี ไม่มีคำว่า เคราะห์

ภาษาสันสกฤต มีคำว่า เคราะห์ เช่น พิเคราะห์ สงเคราะห์ อนุเคราะห์

ตารางสรุปหลักคำภาษาบาลีและสันสกฤต

ภาษาอังกฤษ

ปัจจุบันไทยรับเอาคำภาษาอังกฤษเข้ามาใช้มาก เนื่องจากรับเอาเทคโนโลยีตะวันตกมาใช้จึงเกิดคำใหม่ขึ้นมาใช้ในภาษามากมาย ลักษณะของการรับภาษาอังกฤษเข้ามาใช้ในภาษาไทย มีดังนี้

๑. ทับศัพท์โดยตรงอาจจะเปลี่ยนแปลงเสียงและคำบ้าง เช่น โกโก้ ไอศกรีม ยีราฟ เชิ้ต ทีม คลินิก แบตเตอรี่ ลิปสติก วิตามิน แท็กซี่ กีตาร์ เป็นต้น

๒. บัญญัติศัพท์ อาจใช้คำไทยแปลภาษาอังกฤษ เช่น เครื่องปรับอากาศ มาจาก air conditioner ภูมิหลัง มาจาก background เป็นต้น หรืออาจจะใช้ศัพท์ที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤต แปลคำภาษาอังกฤษด้วย การสร้างคำใหม่ขึ้นมา เช่น ทัศนคติ (attitude) รัฐธรรมนูญ (constitution) วิทยานิพนธ์ (thesis) เป็นต้น

๓. การประสมคำขึ้นใหม่ เช่น รถมอเตอร์ไซค์ (motorcycle) ผ้าไนลอน (nylon) ไฟนีออน (neon) เป็นต้น

คำภาษาอังกฤษในภาษาไทยถ้านำมาทับศัพท์จะไม่นิยมใส่รูปวรรณยุกต์ ยกเว้นคำที่ใช้กันมาแต่เดิม บางคำ

ตัวอย่างคำภาษาอังกฤษในภาษาไทย

โควตา คาร์บอน รถเมล์ ไมค์โครโฟน ชอล์ก อัลบั้ม บอล เบส บิล โบนัส เชียร์ เบอร์ โปสเตอร์ แฟชั่น เช็ค เทนนิส สูท โน้ต ยีนส์ ไฮโดรเจน วิตามิน เป็นต้น

ภาษาจีน

การสังเกตภาษาจีนในภาษาไทยนั้นทำได้ค่อนข้างง่าย เพราะภาษาจีนจะมีลักษณะการออกเสียงคำต่างไปจากภาษาต่างประเทศอื่นๆ ที่ไทยรับเข้ามา แต่อาจออกเสียงต่างไปจากคำเดิมในภาษา

ตัวอย่างคำภาษาจีนในภาษาไทย

กงสี กุ๊ย เก๊ก เก๋ง เกี๊ยว กั๊ก ก๋า โก๋ ก๋ง กะหล่ำ ก๋วยจั๊บ กวางตุ้ง เก้าอี้ เกาเหลา ขึ้นฉ่าย ขิม ซินแส จับกัง เฉาก๊วย ชีช้ำ ซาลาเปา เกาลัด เข่ง ขนมเปี๊ยะ งิ้ว จับฉ่าย เจ๊ง แฉ ซวย ซีอิ๊ว เซียน ตังเก ตั๋ว ตื้อ เตี่ย ตู้ เต้าเจี้ยว เต้าหู้ยี้ ตะหลิว เต้าหู้ เต้าฮวย ตุน ตุ๋น บะหมี่ แป๊ะเจี๊ยะ ปุ๋ย พะโล้ เย็นตาโฟ โรงเตี๊ยม ลี้ สาลี่ ห้าง ปุ้งกี๋ ยี่ห้อ เสี่ย หมึก หวย เป็นต้น

ภาษาฝรั่งเศส

ตัวอย่างคำภาษาฝรั่งเศสในภาษาไทย

กงสุล โก้เก๋ กิโล กาแฟ กรัม บูเกต์ คาเฟ่ ครัวซองท์ คิว โชเฟอร์ บุฟเฟต์ เมตร ลิตร เรสเตอรองก์ บาทหลวง เป็นต้น

ภาษาเปอร์เซีย

ตัวอย่างคำภาษาเปอร์เซียในภาษาไทย

กากี กาหลิบ กุหลาบ เกด ชุกชี คาราวาน บัดกรี ตรา ราชาวดี สนม สุหร่าย องุ่น เป็นต้น

ภาษาโปรตุเกส

ตัวอย่างคำภาษาโปรตุเกสในภาษาไทย

กาละแม กาละมัง จับปิ้ง ปัง ปั้นเหน่ง ปิ่นโต หลา เหรียญ กระจับปิ้ง สบู่ เป็นต้น

ภาษามอญ

ตัวอย่างคำภาษามอญในภาษาไทย

กะเรียน กาเหว่า เกาะ เกวียน ข้าวหลาม ถุง ปะทะ เปิงมาง พราย พิณพาทย์ เพดาน มะกอก มะนาว สะบ้า สวะ

ภาษาอาหรับ

ตัวอย่างคำภาษาอาหรับในภาษาไทย

กะบะ กะลาสี กั้นหยั่น การบูร มรสุม ระกำ อิสลาม อิหม่าม เป็นต้น

ภาษาทมิฬ

ตัวอย่างคำภาษาทมิฬในภาษาไทย

กระสาย กานพลู กุลี แกงกะหรี่ กำมะหยี ตะกั่ว มาลัย อาจาด อินทผลัม เป็นต้น