นมัสการคุณานุคุณ

คำนมัสการคุณานุคุณ

คำนมัสการคุณานุคุณ ผลงานการประพันธ์ของ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) มีเนื้อหาว่าด้วยการน้อมรำลึกในคุณงามความดี

ของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บิดามารดา และครูอาจารย์ โดยมีความมุ่งหมายที่จะให้ผู้อ่านโดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนไทยตั้งอยู่ในความกตัญญู

ต่อผู้มีพระคุณและนำแบบอย่างอันดีงามไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน

ผู้แต่ง

พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)

ลักษณะคำประพันธ์

อินทรวิเชียรฉันท์ 11 กาพย์ฉบัง 16

จุดมุ่งหมายในการแต่ง

เพื่อปลูกผังคุณธรรมและตระหนักถึงความกตัญญูกตเวที

ความเป็นมา

พระยาศรีสุนทรโวหารได้นำคาถาภาษาบาลีมาแปลและเรียบเรียงแต่งเป็น

บทร้อยกรอง มีสัมผัสคล้องจอง ง่ายต่อการท่องจำ

สามารถพรรณนาความได้อย่างไพเราะจับใจ หากเทียบกับการแปลเป็นความเรียงร้อยแก้วทั่วไป

และถ้าอ่านออกเสียงเป็นทำนองเสนาะหรือสวดด้วยทำนองสรภัญญะ

จะยิ่งเพิ่มความไพเราะของถ้อยคำและความหมายที่จรรโลงจิตใจ

ให้ข้อคิดและคติธรรมเป็นอย่างมาก

นมัสการพระพุทธคุณ

อินทรวิเชียรฉันท์ 11

องค์ใดพระสัมพุทธ สุวิสุทธสันดาน

ตัดมูลเกลศมาร บมิหม่นมิหมองมัว

หนึ่งในพระทัยท่าน ก็เบิกบานคือดอกบัว

ราคีบพันพัว สุวคนกำจร

องค์ใดประกอบด้วย พระกรุณาดังสาคร

โปรดหมู่ประชากร มละโอฆกันดาร

ชี้ทางบรรเทาทุกข์ และชี้สุขเกษมสานต์

ชี้ทางพระนฤพาน อันพ้นโศกวิโยคภัย

พ้อมเบญจพิธจัก- ษุจรัสวิมลใส

เห็นเหตุที่ใกล้ไกล ก็เจนจบประจักษ์จริง

กำจัดน้ำใจหยาบ สันดานบาปแห่งชายหญิง

สัตว์โลกได้พึ่งพิง มละบาปบำเพ็ญบุญ

ข้อขอประณตน้อม ศิรเกล้าบังคมคุณ

สัมพุทธการุญ- ญภาพนั้นนิรันดร

นมัสการพระธรรมคุณ

กาพย์ฉบัง 16

ธรรมมะคือคุณากร ส่วนชอบสาธร

ดุจดวงประทีปชัชวาล

แห่งองค์พระศาสดาจารย์ ส่องสัตว์สันดาน

สว่างกระจ่างใจมนท์

ธรรมใดนับโดยมรรคผล เป็นแปดพึงยล

และเก้ากับทั้งนฤพาน

สมญาโลกอุดรพิสดาร อันลึกโอฬาร

พิสุทธิ์พิเศษสุกใส

อีกธรรมต้นทางคระไล นามขนานขานไข

ปฏิบัติปริยัติเป็นสอง

คือทางดำเนินดุจคลอง ให้ล่วงลุปอง

ยังโลกอุดรโดยตรง

ข้าขอโอนอ่อนอุตมงค์ นบธรรมจำนง

ด้วยจิตและกายวาจา

นมัสการพระสังฆคุณ

กาพย์ฉบัง 16

สงฆ์ใดสาวกศาสดา รับปฏิบัติมา

แต่องค์สมเด็จภควันต์

เห็นแจ้งจัตุสัจเสร็จบรร- ลุทางที่อัน

ระงับและดับทุกข์ภัย

โดยเสด็จพระผู้ตรัสไตร ปัญญาผ่องใส

สะอาดและปราศมัวหมอง

เหินห่างทางข้าศึกปอง บมิลำพอง

ด้วยกายและวาจาใจ

เป็นเนื้อนาบุญอันไพ- ศาลแด่โลกัย

และเกิดพิบูลย์พูนผล

สมญาเอารสทศพล มีคุณอนนต์

อเนกจะนับเหลือตรา

ข้าขอนบหมู่พระศรา- พกทรงคุณา

นุคุณประดุจรำพัน

ด้วยเดชบุญข้าอภิวันท์ พระไตรรัตน์อัน

อุดมดิเรกนิรัติศัย

จงช่วยขจัดโพยภัย อันตรายใดใด

จงดับและกลับเสื่อมสูญ

นมัสการมาตาปิตุคุณ

อินทรวิเชียรฉันท์ 11

ข้าขอนบชนกคุณ ชนนีเป็นเค้ามูล

ผู้กอบนุกูลพูน ผดุงจวบเจริญวัย

ฟูมฟักทะนุถนอม บ บำราศนิราไกล

แสนยากเท่าไรไร บ คิดยากลำบากกาย

ตรากทนระคนทุกข์ ถนอมเลี้ยง ฤ รู้วาย

ปกป้องซึ่งอันตราย จนได้รอดเป็นกายา

เปรียบหนักชนกคุณ ชนนีคือภูผา

ใหญ่พื้นพสุนธรา ก็ บ เทียบ บ เทียมทัน

เหลือที่จะแทนทด จะสนองคุณานันต์

แท้บูชไนยอัน อุดมเลิศประเสริฐคุณ

นมัสการอาจาริยคุณ

อินทรวิเชียรฉันท์ 11

อนึ่งข้าคำนับน้อม ต่อพระครูผู้การุญ

โอบเอื้อและเจือจุน อนุสาสน์ทุกสิ่งสรรพ์

ยัง บ ทราบก็ได้ทราบ ทั้งบุญบาปทุกสิ่งอัน

ชี้แจงและแบ่งปัน ขยายอัตถ์ให้ชัดเจน

จิตมากด้วยเมตตา และกรุณา บ เอียงเอน

เหมือนท่านมาแกล้งเกณฑ์ ให้ฉลาดและแหลมคม

ขจัดเขลาบรรเทาโม- หะจิตมืดที่งุนงม

กังขา ณ อารมณ์ ก็สว่างกระจ่างใจ

คุณส่วนนี้ควรนับ ถือว่าเลิศ ณ แดนไตร

ควรนึกและตรึกใน จิตน้อมนิยมชม

คำศัพท์

การุญภาพ ตามต้นฉบับสะกดเป็น การุญญภาพ แปลว่า ความเป็นผู้มีความกรุณา

เกลศ เหมือนกับคำว่า กิเลส หมายถึง เครื่องทำใจให้เศร้าหมอง ได้แก่ ความโลภ ความโกรธ และความหลวง

แกล้ง ในที่นี้หมายความว่า ตั้งใจ เป็นความหมายที่ใช้กันในสมัยโบราณ (ดังมีในศิลาจารึกหลักที่ 1)

"เหมือนท่านมาแกล้งเกณฑ์ให้ฉลาดและแหลมคม" จึงหมายความว่าครูอาจาย์ตั้งใจให้การศึกษาแก่ผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ และสติปัญญาฉลาดหลักแหลม

จตุสัจ อริยสัจสี่ คือ ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ ได้แก่

1. ทุกข์ คือ สภาพที่ทนอยู่ได้ยาก

2. สมุทัย คือ เหตุแห่งทุกข์

3. นิโรธ คือ ความดับทุกข์

4. มรรค คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

เบญจพิธจักษุ ดวงตาหรือปัญญาทั้ง 5 อันเป็นคุณสมบัติวิเศษของพระพุทธเจ้า ได้แก่

1. มังสจักษุ หมายถึง ตาเนื้อ คือ มีพระเนตรอันงาม แจ่มใส ไว และเห็นได้ชัดเจน แม้ในระยะไกล

2. ทิพยจักษุ หมายถึง ตาทิตย์ คือ มีพระญาณอันเห็นหมู่สัตว์ผู้เป็นไปด้วยอำนาจกรรม

3. ปัญญาจักษุ หมายถึง ตาแห่งปัญญา คือ ทรงประกอบด้วยพระปัญญาธิคุณอันยิ่งใหญ่ เป็นเหตุให้สามารถตรัสรู้

4. พุทธจักษุ หมายถึง ตาแห่งพระพุทธเจ้า คือ ญาณหยั่งรู้อัธยาศัยและอุปนิสัยแห่งเวไนยสัตว์ แล้วทรงสั่งสอนให้บรรลุคุณวิเศษต่าง ๆ ทำให้พุทธกิจบริบูรณ์

5. สมันตจักษุ หมายถึง ตาเห็นรอบ คือ ทรงประกอบด้วยพระสัพพัญญุตญาณ อันหยั่งรู้ธรรมทุกประการ

ภควันต์ พระนามหนึ่งของพระพุทธเจ้า

มาร ตัวการที่ขัดขวางไม่ให้บรรลุความดี มี 5 อย่าง เรียกว่า เบญจพิธมาร ได้แก่

1. กิเลสมาร มาร คือ กิเลส

2. ขันธมาร มาร คือ ขันธ์

3. อภิสังขารมาร มาร คือ อภิสังขารที่ปรุงแต่งกรรม

4. เทวบุตรมาร มาร คือ เทพบุตร

5. มัจจุมาร มาร คือ ความตาย

อุตมงค์ ส่วนที่สูงที่สุดของร่างกาย หมายถึง ศีรษะ

เอารสทศพล บุตรของพระพุทธองค์ หมายถึง พระภิกษุ

โอฆ ห้วงน้ำ ในพระพุทธศาสนา หมายถึง กิเลสที่ท่วมทับจิตใจของหมู่สัตว์

ที่มาและได้รับอนุญาตจาก :

บุญลักษณ์ เอี่ยมสำองค์ เกื้อกมล พฤกษประมูล และโสภิต พิทักษ์. ภาษาไทย วรรณคดีและวรรณกรรม ม.4. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์.